ชนิดของคำ

             ภาษาไทยของเราเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ  และก็เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับผู้อื่นด้วยการที่เราใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง  ก็ช่วยเสริมบุคลิกภาพของเรา  การรู้และเข้าใจในเรื่องชนิดของคำที่ใช้พูดและเขียนในภาษาไทยก็เป็นพื้นฐานหนึ่งที่ช่วยให้เราเรียนรู้ภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ดังนั้น  เราจึงควรเรียนรู้เกี่ยวกับคำชนิดต่างๆ และหน้าที่ของคำในภาษาไทย
                นักไวยากรณ์ได้สังเกตคำในภาษาไทยได้เห็นวิธีการใช้คำในประโยคจึงคิดจำแนกภาษาไทยออกเป็น 7 ชนิด  ได้แก่
                -คำนาม
                -คำสรรพนาม
                -คำกริยา
                -คำวิเศษณ์
                -คำบุพบท
                -คำสันธาน
                -คำอุทาน
คำนาม
คำนาม  คือ  คำที่หมายถึงชื่อบุคคล  สัตว์  สิ่งของ  สภาพ  อาการ  ลักษณะ  สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต  แบ่งออกเป็น  5  ประเภท  ดังนี้
                1.นามทั่วไป  หรือ  สามานยนาม  เป็นคำที่ใช้ที่เรียกชื่อทั่วไป  ไม่เจาะจงว่าเป็นคน  สัตว์  หรือสิ่งของใด  เช่น  พ่อ  บ้าน  ปู  รถยนต์  ทหาร  โรงพยาบาล  ถนน  เป็นต้น
                2.นามเฉพาะ  หรือ  วิสามานยนาม  เป็นคำที่ใช้เรียกชื่อเฉพาะเจาะจงเพียงคนเดียว  หรือสิ่งเดียว  เช่น  อภิชาต  กรุงเทพมหานคร  สวนจตุจักร  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นต้น
                3.นามหมวดหมู่  หรือ  สมุหนาม  เป็นคำที่บอกหมวดหมู่ของนามข้างหลัง  เช่น  โขลงช้าง  ฝูงนก  คณะลูกเสือ  เหล่าทหารราบ  เป็นต้น
                4.นามบอกอาการ  หรือ  อาการนาม  เป็นคำนามที่สร้างขึ้นจากคำกริยา  หรือคำวิเศษณ์เพื่อบอกลักษณะอาการ  หรือความเป็นอยู่  มักใช้คำว่า  ความ  และ  การ  นำหน้า
                ความ  นำหน้าคำวิเศษณ์  เช่น  ความแรง  ความเร็ว  ความงาม  เป็นต้น  หรือนำหน้าคำกริยาที่เกี่ยวกับจิตใจ  เช่น  ความฝัน  ความหวัง  ความทุกข์โศก  เป็นต้น
                การ  นำหน้าคำกริยาทั่วๆไป  เช่น  การเดิน  การวิ่ง  การนอน  การพูด  การเล่น  เป็นต้น
             5.นามบอกลักษณะ  หรือ  ลักษณนาม  เป็นคำนามที่บอกลักษณะทั่วไปมักอยู่หลังคำบอกจำนวน  
หน้าที่ของคำนาม
                คำนามทำหน้าที่ในประโยคได้หลายหน้าที่  ดังนี้
                ทำหน้าที่เป็นประธาน  เช่น
                ตำรวจจับผู้ร้าย
                พ่อขับรถจักรยานยนตร์
                ทำหน้าที่เป็นกรรม  เช่น
                แมวกัดหนู
                ฉัตรชัยกินข้าว
                ทำหน้าที่เป็นกรรมตรงและกรรมรอง  เช่น
                แดงทำทองม้วน
                (ทองม้วน  ทำหน้าที่เป็นกรรมตรงของกริยา ทำ)
                ป้อมขายหนังสือให้นักท่องเที่ยว
                (นักท่องเที่ยวเป็นกรรมรองของกริยา ขาย)
                ทำหน้าที่ขยายคำนามอื่น  เช่น
                ผลไม้ฤดูร้อนมักมีรสหวาน
                คุณนวลอนงค์ป้าฉันเป็นพยาบาล
                ทำหน้าที่ขยายกริยา  เช่น
                พ่อไปพิษณุโลก
                สิรีชอบทำงานตอนกลางคืน

คำสรรพนาม
                คำสรรพนาม  เป็นคำที่ใช้แทนคำนาม  เวลาที่จะพูดหรือเขียนข้อความ  ถ้าเราใช้คำนามซ้ำกันไปมา  ก็จะทำให้ข้อความนั้นไม่สละสลวย  น่าเบื่อหน่าย  ไม่ชวนฟัง  เราจึงต้องใช้คำสรรพนามแทนคำนามบ้าง
                คำสรรพนามมีทั้งหมด 6 ชนิด  ดังนี้
1.              บุรุษสรรพนาม  คือ  คำ  สรรพนามที่ใช้แทนผู้พูด  แบ่งเป็นชนิดย่อยได้  3  ชนิด  คือ
1.1        สรรพนามบุรุษที่ 1 ใช้แทนผู้พูดเช่น  ผม  ฉัน  ดิฉัน  กระผม  ข้าพเจ้า  กู  เรา  ข้าพระพุทธเจ้า  อาตมา  หม่อมฉัน  เกล้ากระหม่อม
 1.2  สรรพนามบุรุษที่ 2  ใช้แทนผู้ฟัง  หรือผู้ที่เราพูดด้วย  เช่น  คุณ  เธอ  ใต้เท้า  ท่าน  ใต้ฝ่าละออง      ธุลีพระบาท  ฝ่าพระบาท  พระคุณเจ้า
                 1.3  สรรพนามบุรุษที่ 3  ใช้แทนผู้ที่กล่าวถึง  เขา  มัน  ท่าน  พระองค์
2.  ประพันธสรรพนาม  คือ  คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามและใช้เชื่อมประโยคทำหน้าที่เชื่อมประโยคให้มีความสัมพันธ์กัน  ได้แก่คำว่า  ที่  ซึ่ง  อัน  ผู้  
3.  นิยมสรรพนาม  คือ  สรรพนามที่ใช้แทนนามชี้เฉพาะเจาะจงหรือบอกกำหนดความให้ผู้พูดกับผู้ฟังเข้าใจกัน  ได้แก่คำว่า  นี่  นั่น  โน่น
4.  อนิยมสรรนาม  คือ  สรรพนามใช้แทนนามบอกความไม่ชี้เฉพาะเจาะจงที่แน่นอนลงไป  ได้แก่คำว่า  อะไร  ใคร  ไหน  ได  บางครั้งก็เป็นคำซ้ำๆ  เช่น  ใครๆ  อะไรๆ  ไหนๆ  
5.  วิภาคสรรพนาม  คือ  สรรพนามที่ใช้แทนคำนาม  ซึ่งแสดงให้เห็นว่านามนั้นจำแนกออกเป็นหลายส่วน  ได้แก่คำว่า  ต่าง  บ้าง  กัน  เช่น
        -  นักเรียน"บ้าง"เรียน"บ้าง"เล่น         -  นักเรียน"ต่าง"ก็อ่านหนังสือ
6.  ปฤจฉาสรรพนาม  คือ  สรรพนามที่ใช้แทนนามที่เป็นคำถาม  ได้แก่คำว่า  อะไร  ใคร  ไหน  ผู้ใด  สิ่งใด  ผู้ใด  ฯลฯ  เช่น
        -  "ใคร" ทำแก้วแตก                             -  เขาไปที่ "ไหน"

คำกริยา
                คำกริยา  คือ คำที่แสดงการกระทำ หรือ อาการของคำนาม หรือ คำสรรพนาม แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่
                1.  อกรรมกริยา  คือ  คำกริยาที่ไม่ต้องมีกรรมมารับก็ได้ความสมบูรณ์  เข้าใจได้  เช่น
                      -  เขา"ยืน"อยู่                      -  น้อง"นอน"
             2.  สกรรมกริยา  คือ  คำกริยาที่ต้องมีกรรมมารับ  เพราะคำกริยานี้ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง  เช่น
                     -  ฉัน "กิน"ข้าว           (ข้าวเป็นกรรมที่มารับคำว่ากิน)
                    -  เขา"เห็น"นก           (นกเป็นกรรมที่มารับคำว่าเห็น)
            3.  วิกตรรถกริยา  คือ  คำกริยาที่ไม่มีความหมายในตัวเอง  ใช้ตามลำพังแล้วไม่ได้ความ ต้องมีคำอื่นมาประกอบจึงจะได้ความ  คำกริยาพวกนี้คือ  เป็น  เหมือน  คล้าย  เท่า  คือ  เช่น
            -  เขา"เป็น"นักเรียน                     -  เขา"คือ"ครูของฉันเอง
           4.  กริยานุเคราะห์  คือ  คำกริยาที่ทำหน้าที่ช่วยคำกริยาสำคัญในประโยคให้มีความหมายชัดเจนขึ้น  ได้แก่คำว่า  จง  กำลัง  จะ  ย่อม  คง  ยัง  ถูก  นะ  เถอะ  เทอญ ฯลฯ  เช่น
            -  นายดำ"จะ"ไปโรงเรียน                       -  เขา"ถูก"ตี
คำวิเศษณ์
                คำวิเศษณ์ คือ คำที่ใช้ประกอบคำอื่นให้มีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น แบ่งเป็นชนิดย่อยๆดังนี้
บอกลักษณะ มีคำว่าสูง ต่ำ ดี ชั่ว เป็นต้น เช่น
                เขาสูงกว่าพี่
                วรรณาเป็นคนดี
บอกขนาด มีคำว่า ใหญ่ โต เล็ก กว้าง ยาว แคบ เป็นต้น เช่น
                ห้องนี้มีขนาดเล็ก
                ชะลอมใบใหญ่ใส่มะม่วง
บอกสัณฐาน มีคำว่า กลม แบน ทุย โหนก แป้น เป็นต้น เช่น
                ถังกลมใส่น้ำเต็ม
                จานแบนใส่น้ำไม่ได้
บอกสี มีคำว่า แดง ขาว ดำ เหลือง เป็นต้น เช่น
                หมวกสีแดงใบนี้ของฉันเอง
                เธอชอบใส่เสื้อสีเหลือง
บอกเสียง มีคำว่า เพราะ ดัง ค่อย เครือ แหบ  เป็นต้น เช่น
                มานะร้องเพลงเพราะ
                น้อยร้องไห้เสียงดัง
บอกกลิ่น มีคำว่า หอม เหม็น ฉุน เป็นต้น เช่น
                ห้องนี้มีกลิ่นเหม็นอับ
                กระเทียมมีกลิ่นฉุน
บอกสัมผัส มีคำว่า ร้อน เย็น นุ่ม แข็ง เป็นต้น เช่น
                ผ้าขนหนูนุ่มมาก
                อากาศเย็นทำให้เราสบาย
บอกอาการ มีคำว่า เร็ว ช้า ว่องไว ปราดเปรียวเป็นต้น เช่น
                ม้าวิ่งเร็วมาก
                เต่าเดินช้า

คำบุพบท
                คำบุพบท คือ คำนำหน้าคำนาม คำสรรพนาม หรือคำกริยา เพื่อเชื่อมคำข้างหน้าและขยายคำข้างหน้านั้นๆ เพื่อบอกสถานที่ เวลา แสดงอาการ หรือแสดงความเป็นเจ้าของ เช่น
                บอกสถานที่ มีคำว่า ใน ใกล้ ที่ บน ใต้ ริม ชิด เป็นต้น เช่น
                วิ่งในสนาม
                โต๊ะใกล้ประตู
                บอกความเป็นผู้รับ มีคำว่า แก่ แด่ เพื่อ ต่อ สำหรับ เฉพาะ เป็นต้น เช่น
                แม่ให้เงินแก่ลูก
                ถวายไทยทานแด่พระภิกษุสงฆ์
                บอกความเป็นเจ้าของ มีคำว่า ของ แห่ง เป็นต้น เช่น
                ชุดนี้ของฉัน
                ศิลปินแห่งชาติ
                บอกเวลา มีคำว่า เมื่อ ตั้งแต่ ตราบเท่า เป็นต้น เช่น
                ปรียามาถึงบ้านเมื่อวานนี้
                ตั้งแต่สุจิตราไม่อยู่ บ้านนี้ก็ดูเงียบเหงา
คำสันธาน
                คำสันธาน คือ คำที่ใช้ต่อหรือเชื่อมถ้อยคำให้ดูสละสลวย มีความหมายชัดเจนขึ้น จำแนกออกเป็น 8 ชนิด คือ
                เชื่อมความคล้อยตามกัน เช่น
                พี่และน้องต้องรักกัน
                เชื่อมความขัดแย้งกัน เช่น
                หลายคนสงสารเขาแต่ทว่าช่วยเหลืออะไรเขาไม่ได้เรย
                ถึงเขาจะเป็นเจ้าพ่อ ฉันก็ไม่กลัวเขา
                ถึงเธอจะปากร้ายแต่เธอใจดี
                เชื่อมความเป็นเหตุเป็นผลกัน เช่น
                เขาโดนโกงเพราะว่าเขาไม่รู้หนังสือ
                ปรีดาพูดจริงเสมอ เพราะฉะนั้นเขาจึงได้รับความเชื่อถือที่ดี
                เพราะเขาขยันเขาจึงสอบได้คะแนนดี
                เชื่อมความแบ่งรับแบ่งสู้ เช่น
                ถ้าฝนตกฉันอาจจะไม่มา
                พรุ่งนี้ฉันคงไปทำงาน
                หากวันนี้ฉันทำงานเสร็จ พรุ่งนี้ก็จะไปเที่ยว
                เชื่อมความเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น
                เธอจะไปหัวหินหรือจะไปพัทยา
                เธอต้องส่งรายงานให้ทัน มิฉะนั้นจะไม่ได้คะแนน
                เธอต้องทำงานไม่เช่นนั้นจะถูกไล่ออก
                เชื่อมความเปรียบเทียบ เช่น
                ผิวเธอขาวราวกับหยวกกล้วย
                เสือย่อมหวงลูกเหมือนผึ้งหวงรัง
คำอุทาน
                คำอุทาน คือ คำที่ไม่มีความหมายในตัวเอง เป็นคำที่แสดงอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้พูดหรือพูดเพื่อเสริมคำอื่นให้มีความหมายหนักแน่นยิ่งขึ้น แบ่งออกเป็น 2 ชนิด
                1.คำอุทานบอกอาการ เป็นคำบอกอารมณ์หรือความรู้สึกโดยตรง ใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์ ( ! ) กำกับข้างหลัง เช่น
                โอย ! เจ็บจังเลย
                ว้าย ! ตาเถรตกถังน้ำ
                อ้อ ! นึกออกแล้ว
                2.คำอุทานเสริมบท เป็นคำที่ไม่ได้บอกอารมณ์ แต่ช่วยเน้นความหมายของคำอื่นให้ชัดเจนไม่ใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์ ( ! ) กำกับข้างหลัง ใช้เสริมคำให้คล้องจองกัน หรือใช้เป็นคำสร้อยในคำประพันธ์บางประเภท ใช้เสริมคำซึ่งอาจอยู่กลางคำ ข้างหน้าหรือข้างหลังก็ได้ เช่น
                ไปวัดไปวา
                โรงเล่าโรงเรียน
                ลืมหูลืมตา

10 ความคิดเห็น:

  1. ได้ความรู้มากค่ะ

    ตอบลบ
  2. เนื้อสาระดีมากค่ะ

    ตอบลบ
  3. เนื้อหา เยอะ มาก เลย

    ตอบลบ
  4. สวยมากจร้า น่ารัก เลอค่า

    ตอบลบ
  5. ภาษาไทย ฉบับเต็ม ความรู้ที่น่าสนใจ

    ตอบลบ
  6. เนื้อหาสาระดีมากค่ะ

    ตอบลบ